“วิทยุสื่อสาร” หรือ วิทยุคมนาคมเฉพาะกิจ (Trunk Radio) เป็นเครื่องรับ-ส่งสัญญาณวิทยุ ที่สามารถใช้งานได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่จำกัดระยะเวลาการติดต่อสื่อสาร เพียงแค่มีเครื่องรับส่งก็สามารถเข้าสู่เครือข่ายได้ บุคคลทั่วไปก็สามารถซื้อหามาใช้งานกันได้

วิทยุสื่อสาร กลายเป็นอุปกรณ์ที่ถูกนำมาใช้แทนอุปกรณ์สื่อสาร โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อุปกรณ์สื่อสารอื่นๆ ไม่สามารถใช้งานได้ สามารถติดตั้งในรถยนต์ได้ จึงถูกนำมาใช้งานในหลายประเภท และมีบทบาทที่สำคัญในหลากหลายธุรกิจ โดยเฉพาะงานที่จะต้องมีการสื่อสารกันตลอดเวลา เช่น การขนส่งและการเดินทาง (Logistic & Transportation) โรงงาน และนิคมอุตสาหกรรม การท่าอากาศยาน โรงแรม โรงพยาบาล และกลุ่มรถหรู (Super Car) รวมถึงการนำมาใช้งานในลักษณะของงานบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์กู้ภัย ศูนย์ปฏิบัติการ และประสานงานเหตุการณ์ต่างๆ

แล้วรู้กันหรือไม่ว่า …

วันนี้ วิทยุสื่อสาร กำลังถูกยกระดับขึ้นเป็น อุปกรณ์สื่อสารระบบดิจิทัล มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “วิทยุคมนาคมเฉพาะกิจระบบดิจิทัล” (Digital Trunked Radio System) ที่เป็น Nationwide Digital Trunked Radio เครือข่ายแรกที่มีรัศมีการสื่อสารครอบคลุม และกว้างไกลที่สุดในประเทศไทย เป็นระบบการสื่อสารที่มีแม่ข่ายให้บริการในลักษณะของการจัดกลุ่ม โดยข้อมูลข่าวสารที่ติดต่อกันจะมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น สามารถเก็บเป็นความลับเฉพาะกลุ่มได้ดียิ่งขึ้น ด้วยเพราะมีความสามารถพิเศษที่เพิ่มเติมมากขึ้นนั่นเอง

มาดูกันว่า วิทยุสื่อสารในยุคดิจิทัล 4G อย่าง DTRS จะมีฟังก์ชั่น และรูปแบบการใช้งานที่ชาญฉลาดมากขึ้น กว่าวิทยุสื่อสารระบบอนาล็อกในรุ่นเดิมๆ ที่กำลังจะถูกเก็บเข้ากรุอย่างไรกันบ้าง

1) มีความสามารถในการสื่อสารที่รวดเร็วสูงสุด และสื่อสารไปยังกลุ่มคนจำนวนมากได้โดยไม่จำกัดจำนวน หรือ Group Call จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในสถานการณ์ฉุกเฉิน

2) มีความเสถียรในการใช้งาน แม้ในยามที่เกิดเหตุร้ายภัยพิบัติ ซึ่งโครงข่ายการสื่อสารอาจล่ม และใช้งานไม่ได้ ตามปกติ แต่เครื่องวิทยุสื่อสารดิจิทัลยังสามารถติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้

3) ตัวเครื่องมีความทนทาน กันน้ำ กันกระแทก และป้องกันการเกิดประกายไฟ จึงเหมาะกับการใช้งานภาคสนาม เช่น งานด้านบรรเทาสาธารณภัย

4) มีความปลอดภัยสูงสุด สามารถป้องกันการดักฟังได้โดยการเข้ารหัส ขณะที่ระบบอนาล็อกสามารถดักฟังได้ง่ายๆ เพียงแค่ปรับคลื่นความถี่ให้ตรงกันเท่านั้นเอง

5) มีเครือข่ายการให้บริการที่ครอบคลุมทั่วประเทศ สามารถติดต่อถึงกันได้โดยไม่จำกัดพื้นที่ และมีระบบการส่งสัญญาณเสียงที่คมชัด ไม่มีสัญญาณรบกวนเหมือนระบบอนาล็อกแบบเดิม

DTRS ยังมีคุณสมบัติพิเศษที่ระบบอนาล็อกไม่มี คือ ความสามารถส่งข้อมูลแยกกลุ่ม และรวมกลุ่มได้ในกรณีจำเป็น และมี GPS ระบุตำแหน่ง และความเร็วในการเคลื่อนที่ของเครื่องวิทยุสื่อสารแบบ Real Time เพื่อใช้ในการควบคุม และแจ้งเตือน อีกทั้งยังมี Voice Feature ให้เลือกใช้งานแบบ Private Call, Announcement Call, Telephone Call และ Emergency Call รวมถึงความสามารถใช้งานแบบ Data Feature โดยการส่งข้อความแบบ Short Messaging และยังสามารถบันทึกเสียงการสนทนาได้อีกด้วย

หลายคนอาจสงสัยว่า การติดต่อสื่อสารผ่านโทรศัพท์มือถือ น่าจะตอบโจทย์ได้ดีกว่า หรือไม่?

จากข้อมูลด้านล่าง ชี้ให้เห็นว่า นอกจาก DTRS จะมีรูปแบบการใช้งานที่แตกต่างจากวิทยุสื่อสารในแบบเดิมๆ DTRS ยังมีคุณสมบัติพิเศษอีกหลายข้อที่โทรศัพท์มือถือไม่สามารถทดแทนให้ได้ ดังนี้

ที่น่าสนใจ คือ DTRS ยังมีรูปแบบ การเรียกใช้งานแบบฉุกเฉิน (Emergency Call) โดยกดปุ่มเพียงปุ่มเดียว ระบบจะส่งสัญญาณเตือนไปที่ห้องควบคุม เมื่อได้รับทราบพิกัดที่ชัดเจน เจ้าหน้าที่ใกล้ที่สุดจะเข้าทำการช่วยเหลือโดยทันที อีกทั้งยังมี ระบบความปลอดภัยบุคคล (Man Down) กรณีที่ผู้ใช้งานเครื่องเกิดอันตรายจนทำให้เครื่องลูกข่ายอยู่ในตำแหน่งไม่ปกติ เช่น จากแนวตั้งเป็นแนวนอนเป็นระยะเวลาหนึ่งตามที่กำหนดค่าไว้ โดยเครื่องจะส่งสัญญาณไปยังศูนย์ควบคุมโดยอัตโนมัติเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าทำการช่วยเหลือได้ทันท่วงที

นอกจากนี้ ยังมีระบบอัตโนมัติในการติดตามยานพาหนะ หรือบุคคล (Automatic Vehicle / Person Location System) สามารถติดตามพิกัด (GPS) เครื่องลูกข่ายแบบมือถือ หรือแบบติดรถยนต์ผ่านระบบ Tetra ข้อมูลที่ได้สามารถดูได้จากห้องควบคุม หรือบนสมาร์ทโฟน โดยนำเสนอในรูปแบบแผนที่

ระบบ DTRS ยังสามารถนำมาใช้งานกับระบบการจัดการจราจรทางเรือได้แบบ Real Time เพื่อให้เกิดความปลอดภัย และเป็นระเบียบ สามารถติดต่อสื่อสารระหว่างเรือ และเจ้าหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประหยัดเวลา และเพิ่มประสิทธิภาพในการเฝ้าติดตาม อีกทั้งยังระแวดระวังภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

โดยปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติทางทะเล เริ่มมีการนำ DTRS ไปใช้งานเพื่อบริหารจัดการการเดินเรือ และนักท่องเที่ยวกันบ้างแล้ว

ทั้งนี้ โครงการ Digital Trunked Radio System หรือ DTRS เกิดจากการร่วมมือกันระหว่าง กลุ่มบริษัทสามารถ ในนาม SISC Consortium

ซึ่งประกอบไปด้วย บริษัทสามารถดิจิตอล จำกัด(มหาชน) และ บริษัทสามารถคอมมิวนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด ร่วมกับบริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ในการพัฒนาเครือข่ายวิทยุสื่อสารระบบดิจิตอล เพื่อพลิกโฉมโลกการสื่อสาร และเปิดโอกาสใหม่ในโลกธุรกิจ โดยปัจจุบัน กลุ่มบริษัทสามารถ กำลังเดินหน้าวางระบบ และติดตั้งอุปกรณ์ DTRS จำนวนกว่า 1,000 สถานี เพื่อให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี

เครือข่ายวิทยุสื่อสารระบบดิจิตอล หรือ Digital Trunked Radio System (DTRS) ที่เกิดขึ้นในวันนี้ นับได้ว่าเป็นก้าวใหม่ของการพัฒนา และจุดเริ่มต้นสำคัญของความก้าวหน้าด้านการสื่อสารของไทยอีกก้าวหนึ่ง

Facebook Comments
ติดต่อ/สอบถาม
error: Content is protected !!